วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีในเรื่องขุนช้างขุนแผน

                      ประเพณีในเรื่องขุนช้างขุนแผน

                                           ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  

1.     นางเทพทองฝัน
                    ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่             บินเตร่เร่เข้ามาในป่าใหญ่
                    อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป        เข้าในหอกลางที่นางนอน
               2. ตอนตั้งครรภ์
                   จะกล่าวถึงนางเทพทอง             ท้องนั้นโตใหญ่ขึ้นค้ำหน้า
                    ลุกนั่งอึดอัดถัดไปมา                ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว
3. ตอนคลอด
เมื่อถึงตอนคลอด จะมีลมกัมมัชวาตหรือลมเบ่ง ช่วยให้คลอดตามธรรมชาติอยู่แล้ว หมอตำแยเป็นเพียงผู้ที่ช่วยให้คลอดง่ายขึ้น ดังคำกลอนที่ว่าไว้ตอนที่กำเนิดพลายแก้วว่า
ลมกัมมัชวาตพัดกลับกลาย       ลูกนั้นบ่ายศีรษะลงทวาร
ตกฟากเวลาสามชั้นฉายชั้นฉายนี้วัดจากเงาของตนเอง ๑ ช่วงเท้าก็เท่ากับ ๑ ชั้นฉาย
4. หลังคลอด
                    เร็วเข้าเขาจะคลอดมึงอย่าช้า      ฟืนตอนซื้อมาเอาไว้ไหน
                    เด็กเอ๋ยตั้งหม้อก่อเตาไฟ            น้ำร้อนต้มไว้อย่าได้ช้า
สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อตอนนี้จะมีหญิงที่เลี้ยงลูกง่ายและมีความประพฤติดี จะตอบว่า ลูกข้าเองหมอตำแยจะส่งกระด้งให้ผู้นั้นรับไป ผู้นี้เรียกว่า แม่ยกจะให้เงินหมอตำแยพอเป็นพิธีว่าซื้อไว้
5. การทำขวัญและการโกนผมไฟ
                              ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว      เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน
                    ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ         ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง
6. การตั้งชื่อ
บางครั้งตั้งชื่อตามเพศ ตามลำดับที่คลอด ตามนิมิตฝัน ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือตาม
ลักษณะรูปร่างหน้าตา และลักษณะบางอย่างของเด็ก ดังตัวอย่างเช่นการตั้งชื่อต่างๆของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน
นอกจากนี้ ถ้าเด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ หรือเห็นว่าชื่อเดิมไม่เป็นมงคล ก็อาจจะตั้งชื่อเสียใหม่ได้
เพื่อให้ผีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนละคนกัน จะได้ไม่ไปรบกวนทำให้เด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น นางพิมพิลาไลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวันทอง
7. การโกนจุก
                    ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม                   ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู
                    จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ                     แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู



แนะนำผู้เขียนบล็อก KruprasarnMasterthai


สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมทุกท่าน

บล็อกนี้เป็นของ

ครูประสาร บุญเฉลียว ครูมาสเตอร์ภาษาไทย 

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อุบลราชธานี 

และนายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย




สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการนำบทความที่ได้เขียนขึ้น
 เผยแพร่ให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นประโยชน์ไม่ว่าจะใช้ในการจัดการเรียนการสอน
หรือเป็นช่องทางในการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนสำหรับท่านที่สนใจได้
เป็นอย่างดี ขอขอบพระคุณในคำติชม ข้อคิดและข้อเสนอแนะ ของท่านผู้อ่านบทความมา 
ณ โอกาสนี้

ศิลปะการใช้ภาษาและวรรณศิลป์ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1

ศิลปะการใช้ภาษาและวรรณศิลป์ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1

ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  

          แม้ว่าเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจะเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทยที่บันทึกด้วยลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงและเป็นลายสือไทยที่เก่าแก่มากก็ตาม  แต่ก็มีศิลปะการประพันธ์ที่ไพเราะ   มีคุณค่าเชิงภาษา  ทำให้ชนชาติไทย  มีภาษาเขียนอย่างเป็นทางการ    ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  และความเป็นปึกแผ่นในชนชาติไทย   ภาษาที่ใช้มีความไพเราะสละสลวย  มีลีลาท่วงทำนองที่น่าฟัง ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย  คล้องจองกัน   มีจังหวะและน้ำหนักที่สมดุลกันมาก  มีการเล่นเสียงพยัญชนะ  และใช้ภาพพจน์คำเปรียบเทียบ   ดังนี้
                    1. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
                              ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารไปยังคนหมู่มากที่มีความรู้ต่างระดับกัน คือจากผู้ปกครองไปสู่ชนชั้นใต้ปกครอง จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำราชาศัพท์ คำภาษาเขมร คำภาษาบาลี สันสกฤต  ใช้คำสามัญที่มีลักษณะเป็นภาษาพูดแทน ดังมีรายละเอียดดังนี้
                              1. การใช้คำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้
                                        ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มักใช้คำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้ เช่น ช้าง  ขอ  ลูก  เมีย  เยีย  ข้าว  ไพร่  ฟ้า  ข้า  ไท  ป่า  หมาก พลู ฯลฯ มีคำคู่บ้าง เช่น ป่าหมากป่าพลู มีถ้อยมีความ ได้เงือนได้ทอง ฯลฯ ภาษาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน
                              2. การใช้ประโยคความเดียว
                                        ภาษาในวรรณคดีสุโขทัยใช้รูปประโยคความเดียวขนาดสั้นหลายประโยคต่อเนื่องกัน โดยใช้คำเชื่อมต่าง ๆ น้อยกว่าภาษาสมัยปัจจุบันมาก รูปประโยคเช่นนี้ทำให้ต้องใช้ข้อความซ้ำกันในกลุ่มประโยคที่ต่อเนื่องกัน และเป็นการแจกแจงเรียงลำดับรายละเอียดของข้อมูลทีละส่วน เช่น
                     “พ่อกู ชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง
การใช้ประโยคความเดียวดังกล่าวทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายเพราะจับใจความและจดจำได้ง่ายเหมาะจะใช้สื่อสารไปยังคนหมู่มากได้ดี

                    2. ใช้ภาษาที่สร้างจินตภาพ

                              เป็นภาษาที่สร้างจินตภาพได้ชัดเจน ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างภาพขึ้นในใจได้ มีผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเห็นภาพและเชื่อถือตามข้อความที่เสนอมา วรรณคดีเรื่องนี้มีการใช้ภาษาที่สร้าง
จินตภาพ 3 ลักษณะ คือ การใช้คำให้เกิดภาพพจน์ การใช้ความเปรียบ และการอธิบายนามธรรมเป็นรูปธรรม

1.      การใช้คำให้เกิดภาพพจน์
ภาษาที่ใช้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 งดงามทางด้านการให้ภาพพจน์ที่สามารถสื่อความ
ได้อย่างลึกซึ้ง คมคาย ตรงไปตรงมา ซึ่งพบการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปมาเพียง ชนิดเดียว มีคำใช้เปรียบเทียบเพียงคำเดียวคือคำว่า ดั่ง เช่น   กูพร่ำบำเรอแก่พี่กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู
   
                    2.  การใช้ความเปรียบ
                              การใช้ความเปรียบเป็นการโยงความรู้ของผู้อ่านเข้ากับประสบการณ์เดิมทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ เกิดจินตนาการดียิ่งขึ้น การใช้ความเปรียบในวรรณคดีสมัยสุโขทัย เช่น ตระพังโพยสีใสกินดีดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง เปรียบเทียบว่าน้ำในสระตระพังโพยสีใสเหมือนน้ำในแม่น้ำโขงหน้าแล้ง
                    3.  การอธิบายนามธรรมเป็นรูปธรรม
                    เมื่อต้องการอธิบายหรือขยายความสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งมักไม่มีคำไทยใช้ในสมัยนั้น ผู้แต่งก็มีวิธีการในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมโดยบรรยายให้ต่อเนื่องกันเป็นพวกหรือกลุ่ม เช่น เป็นเหตุการณ์หรืออาการที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเพื่อสื่อความถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น
          การเข้ามาสวามิภักดิ์    ใช้คำว่า  ขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่
          การอนุเคราะห์ สถาปนารัฐ   ใช้คำว่า  ช่วยเหนือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มี
    ปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือนบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวงเป็น   บ้านเป็นเมือง
(ศิลาจารึกบรรทัดที่  28 - 29 ด้านที่ 1   )
          ความยุติธรรม  ใช้คำว่า  แล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”   (ศิลาจารึกบรรทัดที่  26 ด้านที่ 1   )

               3. การใช้ภาษาที่มีความคล้องจอง

                              ภาษาในวรรณคดีเรื่องนี้ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งคือมีการใช้คำที่มีความคล้องจองกัน เพื่อการฟัง ฉะนั้นการใช้คำคล้องจองจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้จำได้ง่ายขึ้น อีกประการหนึ่งการใช้คำคล้องจองก็อาจจะแสดงให้เห็นธรรมชาติของภาษาไทยที่ใช้คำคล้องจองในภาษาพูดอยู่แล้ว ลักษณะภาษาที่มีคำคล้องจอง ได้แก่
                              1.  การใช้คำสัมผัส   เช่น
                    เพื่อนจูงวัวไปค้า                    ขี่ม้าไปขาย
                    คนใดขี่ช้างมาหา          พาเมืองมาสู่    (ศิลาจารึกหลักที่ ๑)
                              2.  การซ้ำคำ
                                        การซ้ำคำทำให้ถ้อยคำเกิดจังหวะและช่วยเน้นย้ำข้อความทำให้เกิดจินตนาการและความรู้สึก เช่น
          ป่าหมากป่าพลู พ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น...
          ...มันบ่มีช้าง   บ่มีม้า    บ่มีปั่ว   บ่มีนาง    บ่มีเงือน   บ่มีทอง ให้แก่มัน   ช่วยมันตวง เป็นบ้านเป็นเมือง    ได้ข้าเสือก   ข้าเสือ    หัวพุ่งหัวรบก็ดี    บ่ฆ่าบ่ตี...
          ...ไพร่ฟ้าหน้าปก   กลางบ้านกลางเมือง    มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ    มันจักกล่าวเถิงเจ้า
เถิงขุนบ่ไร้...
                              3.  การซ้ำชุดคำ
                    การซ้ำชุดคำ คือ การซ้ำกลุ่มคำเดียวกันตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไปมีผลเช่นเดียวกันกับการซ้ำคำ เช่น  ...กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู...
          ...ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า...
                              4.  การใช้คำซ้อนที่คล้องจองกัน  เช่น
                                        1.  มีสัมผัสคล้องจองในคำซ้อน 
                    เจ็บท้องข้องใจ            ไพร่ฟ้าหน้าใส             ผิดแผกแสกกว้าง                  
                    ล้มตายหายกว่า           ตีหนังวังช้าง
                                        2.  มีการซ้ำคำซ้ำข้อความในคำซ้อน  เช่น
                    ข้าเสือกข้าเสือ                      ลูกเจ้าลูกขุน               มีถ้อยมีความ
                    หัวพุ่งหัวรบ                          ป่าหมากป่าพลู            กินอร่อยกินดี

          4.  การใช้คำภาษาต่างประเทศ
                    ภาษาต่างประเทศที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีสมัยสุโขทัย ได้แก่ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร
          ตัวอย่าง คำภาษาเขมร    เช่น คำแหง  ทรง  บำเรอ
ตัวอย่าง คำภาษาบาลี   เช่น  เจดี   สีล
ตัวอย่าง คำภาษาสันสกฤต   เช่น  สมุทร  
ตัวอย่าง คำภาษามอญ  เช่น ชวา  ม่าย
ตัวอย่าง คำภาษาเปอร์เซีย  เช่น  ปสาน  Bazaar  (ตลาด)
          คำภาษาต่างประเทศที่ปรากฏในใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 พบน้อยมาก

          5. การใช้คำเก่า
                    การใช้คำเก่าโบราณ และบางคำเป็นคำเก่าในภาษาถิ่น เช่น เถิง ท่วย แย้ม (หัว) เทียร ฯลฯ
                    จึงกล่าวได้ว่า  ศิลปะการใช้ถ้อยคำหรือความงามด้านวรรณศิลป์ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง  มีความไพเราะสละสลวย  มีลีลาและท่วงทำนองที่น่าฟัง  มีการใช้ถ้อยคำทีคล้องจองกัน  คำมีจังหวะและน้ำหนักที่สมดุลกัน   มีการเล่นเสียงพยัญชนะและใช้ภาพพจน์ความเปรียบทำให้เกิดจินตภาพ   การใช้ภาษาอย่างมีวรรณศิลป์ดังกล่าวจึงทำให้หลักศิลาจารึกนี้  มีคุณค่าเป็นมรดกของชาติและเป็นมรดก
ความทรงจำโลก ตามที่ยูเนสโกได้ยกย่องไว้



คุณค่าที่สำคัญที่สุดจากเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนในมุมมองของฉัน

คุณค่าที่สำคัญที่สุดจากเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนในมุมมองของฉัน

ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  

                    แม้ว่าเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นยอดของกลอนสุภาพ  มีความงามทางวรรณศิลป์สมบูรณ์พร้อมตั้งแต่การใช้คำง่าย แต่งดงามด้วยเรื่องของเสียง การใช้คำ ความหมาย  ตามคำกล่าวที่ว่าง่ายแต่งามตลอดจนกระทั่งการใช้ภาพพจน์และรสของวรรณคดีที่ดีเยี่ยม  แต่ในด้านความรู้ต่างๆที่สะท้อนถึงรากเหง้าของคนไทย  ก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างไร  เป็นคุณค่าด้านความรู้ที่คนไทยและผู้อ่านอื่นๆ ภาคภูมิใจเช่นกัน เช่นประเพณีเกี่ยวกับ  ประเพณีการบวช  การตาย   สงกรานต์   ประเพณีสารท  การเทศน์มหาชาติ  และประเพณีเนื่องในการเกิด
                    ข้าพเจ้าสนใจประเพณีเนื่องในการเกิด  เพราะว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราตั้งแต่เริ่ม
ซึ่งปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างชัดเจน  จึงขอนำเสนอท่านผู้อ่านดังนี้

ประเพณีเนื่องในการเกิด
          การเกิดเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง ในฐานะมารดา เพราะสมัยก่อนวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มี มีเพียงหมอกลางบ้าน แต่กระนั้นก็ยังหาไม่ได้ง่าย ส่วนมากมักพึ่งตนเองมากกว่า
          ขุนช้างขุนแผนนั้นได้บันทึกประเพณีเกี่ยวกับการเกิดไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นการเกิดของพลายแก้ว นางพิมพิลาไลย ขุนช้าง พลายงามและพลายชุมพล  เช่นการเกิดของขุนช้าง

          1. ก่อนตั้งครรภ์ (ความฝัน และทำนายฝัน)
                    เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ผู้เป็นแม่มักจะมีเหตุให้นิมิตฝันไปต่างๆนานา และสามีจะทำนายฝันนั้นได้ว่าจะได้บุตรหญิงหรือชาย และบุตรนั้นจะมีอนาคตอย่างไร ในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ตัวละครผู้เป็นแม่จะฝันก่อน ดังความว่า
          นางเทพทองฝัน
                    ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่                         บินเตร่เร่เข้ามาในป่าใหญ่
                    อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป                              เข้าในหอกลางที่นางนอน
          ขุนศรีวิชัยทำนายฝัน
          ขุนศรีวิชัยจึงทำนายฝันว่า ภรรยาตนจะตั้งครรภ์มีลูกเป็นชายหัวล้านเหมือนนกตะกรุมตัวใหญ่จะสมบูรณ์และร่ำรวย

2. ตอนตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ก็มักจะมีอาการแพ้ท้องทำให้อยากกินของแปลกๆ เช่น
          จะกล่าวถึงนางเทพทอง             ท้องนั้นโตใหญ่ขึ้นค้ำหน้า
          ลุกนั่งอึดอัดถัดไปมา                 ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว
เมื่อตอนตั้งครรภ์จนถึงช่วงใกล้คลอดก็จะมีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติหลายประการ ซึ่งเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่หญิงที่มีครรภ์ เพื่อให้คลอดง่าย และเพื่อปกปักรักษาทารก เช่น ตอนที่กล่าวถึงนางทองประศรีขณะที่มีครรภ์ นางก็รักษาศีลเพื่อให้ลูกและตัวนางปลอดภัย
3. ตอนคลอด
เมื่อถึงตอนคลอด จะมีลมกัมมัชวาตหรือลมเบ่ง ช่วยให้คลอดตามธรรมชาติอยู่แล้ว หมอตำแยเป็นเพียงผู้ที่ช่วยให้คลอดง่ายขึ้น ดังคำกลอนที่ว่าไว้ตอนที่กำเนิดพลายแก้วว่า
ลมกัมมัชวาตพัดกลับกลาย       ลูกนั้นบ่ายศีรษะลงทวาร
ในตอนจะคลอดนี้ คนในบ้านจะต้องไปเตรียมฟืนเอาไว้ เพื่อการอยู่ไฟ เมื่อถึงตอนคลอด คนในบ้านต้องไปล้มกองฟืนที่กองไว้ให้ทลายลง แล้วชักเอาฟืนมา ๒-๓ ดุ้น ติดไฟต้มน้ำเตรียมไว้ นอกจากนี้ก็ต้องทำตามความเชื่อบางอย่าง เพื่อลูกจะได้คลอดง่าย ในขุนช้างขุนแผนได้กล่าวถึงตอนที่นางเทพทองคลอดไว้ว่า
พอเด็กคลอดออกมาถึงพื้น ตอนนี้เรียกว่า ตกฟากที่จริงฟากก็คือไม้ไผ่ทุบให้แบนทำเป็นพื้นเรือนนั่นเอง เวลาต้องจดกัน เพราะสำคัญเกี่ยวกับโหราศาสตร์ สมัยก่อนไม่มีนาฬิกา จดกันเป็นชั้นฉาย อย่างพลายแก้วคลอด ก็ว่า ตกฟากเวลาสามชั้นฉายชั้นฉายนี้วัดจากเงาของตนเอง ๑ ช่วงเท้าก็เท่ากับ ๑ ชั้นฉาย
4. หลังคลอด
เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วหมอตำแยจะสั่งให้จัดเตรียมฟืนไฟ ต้มน้ำ เตรียมยาที่จะให้หญิงเพิ่งคลอดดื่มทันที ยานั้นได้แก่ น้ำส้มมะขามเปียกผสมเกลือ ถือว่าเป็นยาช่วยชำระล้างโลหิตเสียที่ตกค้างอยู่ ตอนที่นางศรีมาลากำเนิดพลายเพชร นางทองประศรีได้สั่งบ่าวไพร่ให้เตรียมของใช้ และยาที่จะให้ผู้ป่วยกิน ดังความว่า
                    เร็วเข้าเขาจะคลอดมึงอย่าช้า       ฟืนตอนซื้อมาเอาไว้ไหน
                    เด็กเอ๋ยตั้งหม้อก่อเตาไฟ            น้ำร้อนต้มไว้อย่าได้ช้า
ต่อจากนั้นก็ทำธุระเกี่ยวกับเด็ก คือตัดสายสะดือ โดยปกติใช้ไม้รวกเผาไฟจัดการห่อเด็กเพื่อนำไปอาบน้ำอุ่นเสร็จแล้วก็อุ้มนอนบนเบาะที่ปูอยู่ในกระด้ง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะจัดสมุดดินสอไว้ข้างตัว ถ้าเป็นเด็กหญิงก็มีเข็มมีด้าย เพื่อเอาเคล็ดให้เด็กรู้จักเขียนอ่าน หรือเด็กช่างเย็บปักถักร้อย แล้วก็ทำพิธีร่อนกระด้ง ในบทเสภาตอนกำเนิดพลายงามมีว่า ทาขมิ้นแล้วใส่กระด้งร่อน
การร่อนกระด้ง หมอตำแยยกกระด้งขึ้นร่อนเบาๆ แล้วก็วางลง พอเด็กตกใจร้องแว้ ทำอย่างนี้ ๓ ครั้ง พลางก็พูดว่า สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ ตอนนี้จะมีหญิงที่เลี้ยงลูกง่ายและมีความประพฤติดี จะตอบว่า ลูกข้าเอง หมอตำแยจะส่งกระด้งให้ผู้นั้นรับไป ผู้นี้เรียกว่า แม่ยก จะให้เงินหมอตำแยพอเป็นพิธีว่าซื้อไว้

5. การทำขวัญและการโกนผมไฟ
เมื่อเด็กคลอดได้ ๓ วัน นับว่าพ้นอันตรายจากลูกผีมาได้ตอนหนึ่ง พ่อแม่ก็จัดทำขวัญเด็ก แสดงความดีใจ การทำขวัญในตอนนี้ไม่ได้ทำอย่างออกหน้าออกตา คงทำกันภายในครอบครัว เมื่อเด็กอายุครบเดือนแล้วจึงทำพิธีโกนผมไฟ และทำขวัญเป็นการใหญ่ เช่น ตอนกำเนิดพลายแก้ว มีการกล่าวถึงการทำขวัญไว้ว่า
                              ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว      เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน
                    ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ         ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง

           6. การตั้งชื่อ
การตั้งชื่อเด็กไม่มีกำหนดเวลาที่ตายตัว บางรายเมื่อโกนผมไฟ แล้วตั้งชื่อพร้อมกันไปก็มี ไปตั้งเมื่อโตแล้วก็มี เวลาไปฝากเป็นลูกศิษย์พระ พระผู้เป็นอาจารย์ตั้งให้ก็มี ครั้งโบราณ การตั้งชื่อเห็นจะตั้งเป็นการชั่วคราวก่อนการตั้งชื่อเด็ก เป็นการให้สิริมงคลแก่เด็กอย่างหนึ่ง ดังนั้น การตั้งชื่อเด็กเกี่ยวข้องกับโชคชะตาราศี จึงต้องนำเอาเวลาตกฟาก วัน เดือน ปีเกิด มาประกอบในการตั้งชื่อด้วย บางครั้งตั้งชื่อตามเพศ ตามลำดับที่คลอด ตามนิมิตฝัน ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือตามลักษณะรูปร่างหน้าตา และลักษณะบางอย่างของเด็ก ดังตัวอย่างเช่นการตั้งชื่อต่างๆของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน
การตั้งชื่อขุนช้างมีที่มาจากตอนที่ขุนช้างเกิดนั้น มีช้างเผือกมาถวายพระพันวษา จึงตั้งชื่อว่าขุนช้าง ส่วนพลายแก้วที่มีชื่อเช่นนั้น เนื่องจากเจ้ากรุงจีนได้นำแก้วมาถวายพระพันวษา โดยบรรจุไว้บนยอดเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดเจ้าพระยาไทย ส่วนการตั้งชื่อพลายงาม เนื่องจากมีรูปร่างงดงามเหมือนขุนแผน นางวันทองจึงตั้งชื่อลูกเช่นนั้น
นอกจากนี้ ถ้าเด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ หรือเห็นว่าชื่อเดิมไม่เป็นมงคล ก็อาจจะตั้งชื่อเสียใหม่ได้ เพื่อให้ผีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนละคนกัน จะได้ไม่ไปรบกวนทำให้เด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น นางพิมพิลาไลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวันทอง

7. การโกนจุก
พิธีโกนจุกเป็นเครื่องบอกสถานภาพของคนในสังคม เป็นการเตือนให้ผู้เข้าพิธีทราบว่า คนคนนั้นเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กเป็นผู้ใหญ่แล้ว นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ทางสังคม ทางอารมณ์ หรือกิริยามารยาทก็ควรได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย
ในพิธีโกนจุกนี้ ถ้าเจ้าของงานเป็นผู้มั่งคั่ง ก็มีการเลี้ยงดูเพื่อนฝูง เช่น เลี้ยงอาหารเย็นและมีมหรสพด้วย ในเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพิธีโกนจุกพลายงาม ดังนี้
          ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม                   ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู
          จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ                     แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู



     


คุณค่าจากเรื่องไตรภูมิพระร่วง

คุณค่าจากเรื่องไตรภูมิพระร่วง

  ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  


ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่สำคัญเล่มหนึ่ง ในสมัยสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลต่อคนไทยมาก  พญาลิไท ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากที่ทรงผนวชแล้ว
คุณค่าของเรื่องไตรภูมิพระร่วง

       1.  ด้านภาษาและสำนวนโวหาร  

เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง 30 คัมภีร์   จึงมี
ศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก  สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย  ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร  ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ  ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด  เช่น  " บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี  บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า  บ้างขับศัพท์สำเนียง" 

   2.  ด้านความรู้ 

        2.1  ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณฑุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์   
ต้นปาริชาติ    ต้นนารีผล    นรก    สวรรค์ เป็นต้น
        2.2  ด้านภูมิศาสตร์  เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป  ได้แก่ 
ชมพูทวีป  บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป  โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

        3.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม

       3.1  คำสอนทางศาสนา  ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป  เช่น  การทำบุญรักษาศีลเจริญสมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก  เช่น "คนผู้ใดกล่าวคำร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศิลและพ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ครูปาทยาย  คนผู้นั้นตาย  ไปเกิดในนรกอันได้ขื่อว่า  สุนักขนรกนั้นแล  แลมิให้เขาอยู่สบายแลให้เขาเจ็บปวดสาหัส  ได้เวทนาพ้นประมาณ  ทนอยู่ในนรกอันชื่อสุนักขนรกนั้นแล"
 แนวความคิดนี้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม
       3.2  ค่านิยมเชิงสังคม  อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย  ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษาศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล  แห่งกรรม   มุ่งใช้คุณธรรมความดีเป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ความสุขในสังคม
       3.3  ศิลปกรรม  จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร  โดยจะเขียนภาพนรกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน  และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

    4.  ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น

                    มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ  เป็นต้น  ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง  โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่างๆ เช่น  ลิลิตโองการแช่งน้ำ  มหาเวสสันดรชาดก  รามเกียรติ์  กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ลิลิตโองการแช่งน้ำ   กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง                   น้ำแล้งไข้ขอดหาย "

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2  กล่าวถึงปลาอานนท์

" เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน "
กากีคำกลอน  กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร
อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน      จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร"
ขุนช้างขุนแผน  กล่าวถึงป่าหิมพานต์
" ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ             จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่

  เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี            สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
………………………………………………………………………………………

ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม      อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา




                    หลังจากอ่านเรื่องไตรภูมิพระร่วงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่า   แม้เนื้อหาของเรื่องนี้ซึ่งได้ประพันธ์ขึ้นโดยอิงจากภูมิรู้ทางธรรม  อาจดูห่างไกลจากการพิสูจน์ หรือจับต้องได้จริงทางวิทยาศาสตร์ในโลกปัจจุบัน  แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไตรภูมิพระร่วงได้ฝากข้อคิดไว้แก่ผู้อ่าน  นั่นคือ  การสะท้อนให้เห็นถึงภาวะอันตรงข้ามกันของ ความดี  และความชั่ว  ซึ่งจากเนื้อหา ผู้ประพันธ์ได้ใช้สัญลักษณ์แทนความดีด้วยการพรรณนาให้ผู้อ่านรู้จักกับสวรรค์  อันมีลักษณะน่ารื่นรมย์  ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับนรกซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว อันประกอบไปด้วยความทุกข์ทรมานนานาประการ  ลักษณะตรงกันข้ามนี้ยังคงเป็นความจริงไม่ผันแปรว่า แม้โลกจะได้รับการสร้างสรรค์ให้เจริญไปมากเท่าใด  หากแต่ใจคนยังคงมีทั้งด้านดี  และด้านไม่ดีอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติดี ย่อมได้รับสิ่งที่ดีเป็นผลสะท้อนกลับ  และในขณะเดียวกัน  หากปฏิบัติไม่ดี  ผลไม่ดีย่อมติดตามมาเป็นของคู่กันเหมือนเงาตามตัว  ซึ่งตรงนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงการมุ่งกระทำดี และควบคุม หรือลดการกระทำชั่วในชีวิตประจำวันได้


ศิลปะการดำเนินชีวิต

ศิลปะการดำเนินชีวิต

                     ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย 

คนเราทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรต่างปรารถนาความสุขในชีวิตอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น  มีฐานะที่มั่นคง  แต่จะมีสักกี่คน  กี่ครอบครัว  ที่ประสบความสุขความสมหวังที่แท้จริง เพราะสภาพชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความขุ่นมัว  มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ  ความขัดแย้งและความทุกข์  และเมื่อใครก็ตาม  มีความทุกข์บรรยากาศรอบตัวเขาเหล่านั้นก็พลอยได้รับผลกระทบไม่สบายใจไปด้วย    ลำพังฐานะที่มั่นคง  มิได้เป็นคำตอบว่าจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตเสมอไป   บางคนมีฐานะต่ำต้อย  เขาอาจมีความสุขในชีวิตก็เป็นได้   อะไรคือคำตอบ   อะไรคือสิ่งประกันให้คนเรามีความสุขที่แท้จริงในการดำเนินชีวิตกันแน่
ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่เพียรพยายามค้นหาคำตอบเช่นกันทั้งที่เป็นครูสอน
โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด  มีฐานะที่มั่นคง มีการศึกษาสูง  มีภรรยา  มีลูกที่น่ารัก         มีอาชีพที่มีเกียรติในสังคมชีวิตก็มิได้มีความสุขเท่าที่ควร  จึงแสวงหาหนทางที่ดีกว่าเพื่อจะได้พบความสุขที่แท้จริง  และในฐานะที่เป็นคนอุบลราชธานี ได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวของ   พระมหาเถระผู้โด่งดังหลาย  ท่านเช่น    หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต  หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล          และหลวงพ่อชา  สุภัทฺโท มาโดยตลอด จึงได้ศึกษาธรรมะของท่านและนำมาฝึกปฏิบัติพัฒนาจิตใจตามแนวทางที่ท่านสอนไว้  จนสามารถยกระดับจิตใจตนเองให้สูงขึ้นและมีความสุขได้ระดับหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งอาจเกิดจากที่เราไม่ได้ลงมือฝึกปฏิบัติตามแนวทางของท่านอย่างเต็มที่เต็มกำลัง  หรืออาจไม่สอดคล้องกับจริตนิสัยของเราก็เป็นได้   จึงยังไม่ได้ทรงไว้ซึ่งความสุขอย่างยั่งยืน
จนกระทั่งในปี 2538  มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้แนะนำให้ข้าพเจ้าไปปฏิบัติ
วิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า แบบเต็มหลักสูตรที่มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์  ศูนย์ฯ ธรรมกมลา  อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ในช่วงปิดภาคเรียน 10 วันต่อเนื่องกันในเดือนเมษายนปีนั้น   จึงเริ่มพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตเป็นความสุขสงบที่เกิดจากภายใน   และข้าพเจ้าขอเรียกแนวทางนี้ว่า ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต
การฝึกศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต คือการฝึกวิปัสสนาแนวอาจารย์โก
เอ็นก้า ซึ่งสืบทอดวิธีการจากท่านอาจารย์อูบาขิ่น (วิปัสสนาจารย์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง)   จนแพร่หลายไปทั่วโลก  สำหรับในประเทศไทยนั้นมีสถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่   ศูนย์ฯ ธรรมธานี เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ  ศูนย์ฯ ธรรมกมลา อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  ศูนย์ฯ ธรรมอาภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก  ศูนย์ฯ ธรรมสุวรรณา           อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น  ศูนย์ฯธรรมกาญจนา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี    
วิปัสสนาหมายถึง[1] "การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง"  อันเป็น
กระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง  เริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่มั่นคง    และก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต  ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ ได้พบความไม่เที่ยง(อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา)ของตัวเราเอง  ผ่านการเฝ้าสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา   การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการใน      การชำระจิตให้บริสุทธิ์
วิปัสสนาเป็น  วิธีการในการขจัดความทุกข์  ทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้
คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ และเป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
การเตรียมตัวสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติ
จะต้องส่งใบสมัครไปยังศูนย์ปฏิบัติธรรมข้างต้นเมื่อไปรับการยืนยันจึงจะเข้ารับการฝึกปฏิบัติได้  โดยต้องเตรียมการหลายอย่าง  อาทิ  เตรียมกาย  เตรียมใจ   
การเตรียมกาย  เช่น
ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า  ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจัง
เสมือนอยู่คนเดียว  มีการแยกชายหญิง  ห้ามนำของมึนเมาเข้ามา   หากจะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าตลอดระยะเวลาการฝึก
ศูนย์ฯฝึกจะจัดอาหารมังสวิรัติ ให้ผู้เข้ารับการฝึกทุกคน  เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบ
ง่ายและสวมสบาย  ไม่จำกัดสีหรือแบบ  แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง  เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป  และห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง 

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบปะกับ
ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน  นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก  เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด  เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป  สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น
นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวม
อย่างเด็ดขาดและไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก  เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น
การเตรียมใจ
ผู้ฝึกปฏิบัติทุกคนจะต้องเตรียมใจและฝึกใจเพื่อรักษาศีล
กระบวนการทำจิตให้  บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา คือการรู้แจ้งเห็นจริง   ผู้เข้า
ปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 ศีล อย่างเคร่งครัด

ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกวันแรก
จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย  การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ  โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย  และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็หากจำเป็นสามารถติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ  แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด
ขั้นตอนการฝึกมี 3 ขั้นดังนี้ [2]
ขั้นตอนแรกคือการรักษาศีล  ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ  และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญาคือการรู้แจ้ง       
เห็นจริง   ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด  จะช่วยทำให้จิตใจสงบลง  จนพร้อมที่จะเข้าถึงความจริงในตัวเอง

ขั้นตอนต่อมาคือสมาธิ  การพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิตที่
ควบคุมได้ยาก ด้วยการฝึกให้จิตเพ่งความสนใจไปที่วัตถุอย่างเดียว คือลมหายใจ    พยายามเพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจให้นานที่สุด   แต่เป็นการสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่  ทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก  การกระทำเช่นนี้จะทำให้จิตสงบยิ่งขึ้น  จิตจะปราศจากกิเลสที่รุนแรง  ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้จิตมีสมาธิที่แหลมคมพร้อมที่จะสำรวจความจริงในตัวเอง

ขั้นตอนที่สาม  คือการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส  โดยพัฒนา
ปัญญาให้เห็นธรรมชาติของตนเอง  นี่คือการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเป็นการมองความจริงภายในร่างกายและจิตใจ  จะมีการสังเกตอย่างเป็นระบบ  ทำอย่างปล่อยวาง  สังเกตเข้าไปในปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของกระบวนการนามรูป  ซึ่งแสดงตัวออกมาเป็นความรู้สึกที่ร่างกาย  นี่เป็นสาระสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้า  คือการชำระจิตใจบริสุทธิ์ด้วยการสังเกตตนเอง

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ทดลองฝึกปฏิบัติตั้งแต่ปี พุทธศักราช  2538 ก็เกิด
การเปลี่ยนแปลงในด้านจิตใจของตนเองหลายอย่าง  โดยเฝ้ามอง  สังเกต  ชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและฝึกฝนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 15  ปี จนปัจจุบันก็เห็นผลสัมฤทธิ์ของจิตใจตนเองสูงขึ้นมีทุกข์น้อยลง เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องศิลปะแห่ง        การดำเนินชีวิต

จากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติของข้าพเจ้าหลายครั้งพบว่า   เมื่อนั่ง
วิปัสสนาไปได้ประมาณ ชั่วโมง  จะมีอาการปวดเมื่อยที่ขามากเพราะอาจารย์สั่งให้นิ่งๆอย่าขยับ  ผ่านเข้าสู่ชั่วโมงที่ 2 ความปวดทวีความรุนแรงขึ้นจนขาจะขาดให้ได้  จึงตั้งจิตใหม่ให้เฝ้าดูและอย่าไปผูกพันกับความรู้สึกที่อยากหายปวด  เพราะเมื่อใดที่ “ความอยากเข้ามาผสมโรง  จะยิ่งปวดเป็นหลายร้อยเท่า    หลังจากนั้นตัดใจเลยว่าจะตายก็ขอให้ตายไปเลย  ยอมเสียสละเพื่อธรรม   เพื่อพบสิ่งที่ดีกว่า  พอใจของเรายอม (วาง)   จิตไม่ไปเกาะกับความปวดที่ขา  ความปวดหลุดผลัวะออกไปเลย  ก็เลยเกิดปัญญาขึ้นมาด้วยตนเอง  ถ้าจะเรียกว่าเป็น ภาวนามยปัญญาก็คงไม่ผิด  ว่าทุก ๆ ความรู้สึกจะอยู่ภายใต้กฎเดียวกันคือกฎอนิจจัง  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเมื่อทำใจให้เป็นอุเบกขา (วาง)

ถ้าเมื่อใดจิตของเรามีความทุกข์ (กิเลส)  เข้ามาครอบงำ (อาการที่เกิดใน
ร่างกายเช่นปวดทรมาน = ทุกข์)  แล้วจิตของเราก็ควรแค่เฝ้าดู (แค่สังเกตดูไม่ต้องร่วมผสมโรง(สังขาร =อยากหายปวด = ตามธรรมชาติของจิต  คือถ้าสบาย = ดูดเข้า,ถ้าทุกข์ = จะผลักออก)  ความทุกข์(กิเลส)นั้นก็จะค่อยๆหายไปเอง  ทั้งนี้เราต้องมี  ศีล  สมาธิ  สติ  ปัญญา  และกำลังใจที่เข้มแข็งไม่กลัว  เป็นเครื่องมือกำกับ ตลอดเวลา

ใครก็ตามที่ฝึกปฏิบัติแล้วจะมีภูมิคุ้มกันจิตใจมีศิลปะในการดำเนินชีวิตเมื่อใด
เกิดกิเลสขึ้นในใจ  จะมีปรากฏการณ์ทางกายเกิดขึ้น 2 อย่าง   อย่างแรกลมหายใจจะผิดปกติ  ลมหายใจแรงขึ้น  ลมหายใจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย  ส่วนอย่างที่สองจะเกิดขึ้นในระดับที่ละเอียดกว่า  จะมีปฏิกิริยาทางชีวเคมีบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย  ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นความรู้สึกขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย   ลมหายใจและความรู้สึกจะช่วยเราได้ 2 ทาง  คือคอยเตือนเราเหมือนเป็นเลขานุการส่วนตัว  ทันทีที่กิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เกิดขึ้นในจิต  ลมหายใจของเราจะผิดปกติ  เช่นเดียวกับความรู้สึกทางกายของเราจะบอกว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น   เมื่อเราได้รับการเตือน  แล้วเราหันมาสังเกตลมหายใจ  หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยไม่ไปร่วมสังฆกรรมใดๆ ด้วย  เพียงเฝ้าดู  อย่างผู้ดู  ด้วยใจที่เป็นกลาง  จะพบว่ากิเลส(ความทุกข์)นั้นจะค่อยๆสลายตัวไป

จึงกล่าวได้ว่าทุก  ความรู้สึกที่เข้ามาในจิตใจเราให้ตามดู  รู้ทัน  วางท่าทีที่
ถูกต้องกับสิ่งนั้น  ไม่ต้องไปจัดการกับกิเลสด้วยการผลักมันออกไป   เพราะเราไม่มีทางชนะธรรมชาตินั้นได้  และธรรมชาติในแต่วันที่เราดำเนินชีวิตนั้น  จะมีสิ่งกระทบวิถีชีวิตตลอดเวลาทั้งที่เราชอบใจและไม่ชอบใจ     ทำให้จิตใจเกิดความไม่สมดุลขึ้นๆ ลง   วูบไปไหวมาทั้งวัน  แต่เมื่อเราผ่านกระบวนการฝึกให้เกิดมีศิลปะในการดำเนินชีวิตแล้ว  จิตใจดวงเดิมก็จะเปลี่ยนความเคยชินเป็นใจดวงใหม่  เป็นใจที่เกิดใหม่แต่อยู่ในร่างเดิม  เป็นใจที่ปล่อยวาง (อุเบกขาได้ง่ายขึ้นต่อทุกเรื่องราวที่กระทบใจ ทั้งชอบ ทั้งชัง  ไม่ร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับมัน  ชีวิตก็จะผาสุก  ยิ่งขึ้น  การดำเนินชีวิตก็สงบ  สันติยิ่งขึ้น  มีความสุขยิ่งขึ้นเพราะมีศิลปะในการดำเนินชีวิต นั่นเอง  และข้าพเจ้าก็พบความสุขที่สงบเย็นของชีวิตเช่นเดียวกัน ยิ่งได้มาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นำศีล  สมาธิ  ปัญญา  มาทรงไว้ในชีวิตประจำวัน  ยิ่งพบความสุขที่ยั่งยืนและถาวรอย่างแท้จริง

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า..
จิตที่ฝึกดีแล้ว   ย่อมนําความสุขมาให้  การฝึกจิตให้ดี   ย่อมสําเร็จประโยชน์



หนังสืออ้างอิง

สัตยา  นารายัน  โกเอ้นก้า. (2537). ธรรมบรรยาย  (พิมพ์ครั้งที่ 2),กรุงเทพมหานคร:  
            มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน.
อาจารย์โกเอ็นก้า.  คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาค้นเมื่อ 12  ตุลาคม
            2552, จากhttp://www.thaidhamma.net/index.php?option=com_content&task 
อาจารย์โกเอ็นก้า. (2552). ศิลปะการดำเนินชีวิตและตายแล้วไปไหน ( พิมพ์ครั้งที่ 2),
            กรุงเทพมหานคร :  พิมพ์ดี.





   ที่มา. จาก  คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา, ค้นเมื่อ 12  ตุลาคม 2552, จาก http://www.thaidhamma.net
[2]  ที่มา. จาก  ศิลปะการดำเนินชีวิตและตายแล้วไปไหน (พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า10–12),โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า,2552,      
    กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ดี.