วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คุณค่าที่สำคัญที่สุดจากเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนในมุมมองของฉัน

คุณค่าที่สำคัญที่สุดจากเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนในมุมมองของฉัน

ประสาร  บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย  

                    แม้ว่าเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นยอดของกลอนสุภาพ  มีความงามทางวรรณศิลป์สมบูรณ์พร้อมตั้งแต่การใช้คำง่าย แต่งดงามด้วยเรื่องของเสียง การใช้คำ ความหมาย  ตามคำกล่าวที่ว่าง่ายแต่งามตลอดจนกระทั่งการใช้ภาพพจน์และรสของวรรณคดีที่ดีเยี่ยม  แต่ในด้านความรู้ต่างๆที่สะท้อนถึงรากเหง้าของคนไทย  ก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างไร  เป็นคุณค่าด้านความรู้ที่คนไทยและผู้อ่านอื่นๆ ภาคภูมิใจเช่นกัน เช่นประเพณีเกี่ยวกับ  ประเพณีการบวช  การตาย   สงกรานต์   ประเพณีสารท  การเทศน์มหาชาติ  และประเพณีเนื่องในการเกิด
                    ข้าพเจ้าสนใจประเพณีเนื่องในการเกิด  เพราะว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราตั้งแต่เริ่ม
ซึ่งปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างชัดเจน  จึงขอนำเสนอท่านผู้อ่านดังนี้

ประเพณีเนื่องในการเกิด
          การเกิดเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง ในฐานะมารดา เพราะสมัยก่อนวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มี มีเพียงหมอกลางบ้าน แต่กระนั้นก็ยังหาไม่ได้ง่าย ส่วนมากมักพึ่งตนเองมากกว่า
          ขุนช้างขุนแผนนั้นได้บันทึกประเพณีเกี่ยวกับการเกิดไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นการเกิดของพลายแก้ว นางพิมพิลาไลย ขุนช้าง พลายงามและพลายชุมพล  เช่นการเกิดของขุนช้าง

          1. ก่อนตั้งครรภ์ (ความฝัน และทำนายฝัน)
                    เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ผู้เป็นแม่มักจะมีเหตุให้นิมิตฝันไปต่างๆนานา และสามีจะทำนายฝันนั้นได้ว่าจะได้บุตรหญิงหรือชาย และบุตรนั้นจะมีอนาคตอย่างไร ในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ตัวละครผู้เป็นแม่จะฝันก่อน ดังความว่า
          นางเทพทองฝัน
                    ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่                         บินเตร่เร่เข้ามาในป่าใหญ่
                    อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป                              เข้าในหอกลางที่นางนอน
          ขุนศรีวิชัยทำนายฝัน
          ขุนศรีวิชัยจึงทำนายฝันว่า ภรรยาตนจะตั้งครรภ์มีลูกเป็นชายหัวล้านเหมือนนกตะกรุมตัวใหญ่จะสมบูรณ์และร่ำรวย

2. ตอนตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ก็มักจะมีอาการแพ้ท้องทำให้อยากกินของแปลกๆ เช่น
          จะกล่าวถึงนางเทพทอง             ท้องนั้นโตใหญ่ขึ้นค้ำหน้า
          ลุกนั่งอึดอัดถัดไปมา                 ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว
เมื่อตอนตั้งครรภ์จนถึงช่วงใกล้คลอดก็จะมีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติหลายประการ ซึ่งเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่หญิงที่มีครรภ์ เพื่อให้คลอดง่าย และเพื่อปกปักรักษาทารก เช่น ตอนที่กล่าวถึงนางทองประศรีขณะที่มีครรภ์ นางก็รักษาศีลเพื่อให้ลูกและตัวนางปลอดภัย
3. ตอนคลอด
เมื่อถึงตอนคลอด จะมีลมกัมมัชวาตหรือลมเบ่ง ช่วยให้คลอดตามธรรมชาติอยู่แล้ว หมอตำแยเป็นเพียงผู้ที่ช่วยให้คลอดง่ายขึ้น ดังคำกลอนที่ว่าไว้ตอนที่กำเนิดพลายแก้วว่า
ลมกัมมัชวาตพัดกลับกลาย       ลูกนั้นบ่ายศีรษะลงทวาร
ในตอนจะคลอดนี้ คนในบ้านจะต้องไปเตรียมฟืนเอาไว้ เพื่อการอยู่ไฟ เมื่อถึงตอนคลอด คนในบ้านต้องไปล้มกองฟืนที่กองไว้ให้ทลายลง แล้วชักเอาฟืนมา ๒-๓ ดุ้น ติดไฟต้มน้ำเตรียมไว้ นอกจากนี้ก็ต้องทำตามความเชื่อบางอย่าง เพื่อลูกจะได้คลอดง่าย ในขุนช้างขุนแผนได้กล่าวถึงตอนที่นางเทพทองคลอดไว้ว่า
พอเด็กคลอดออกมาถึงพื้น ตอนนี้เรียกว่า ตกฟากที่จริงฟากก็คือไม้ไผ่ทุบให้แบนทำเป็นพื้นเรือนนั่นเอง เวลาต้องจดกัน เพราะสำคัญเกี่ยวกับโหราศาสตร์ สมัยก่อนไม่มีนาฬิกา จดกันเป็นชั้นฉาย อย่างพลายแก้วคลอด ก็ว่า ตกฟากเวลาสามชั้นฉายชั้นฉายนี้วัดจากเงาของตนเอง ๑ ช่วงเท้าก็เท่ากับ ๑ ชั้นฉาย
4. หลังคลอด
เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วหมอตำแยจะสั่งให้จัดเตรียมฟืนไฟ ต้มน้ำ เตรียมยาที่จะให้หญิงเพิ่งคลอดดื่มทันที ยานั้นได้แก่ น้ำส้มมะขามเปียกผสมเกลือ ถือว่าเป็นยาช่วยชำระล้างโลหิตเสียที่ตกค้างอยู่ ตอนที่นางศรีมาลากำเนิดพลายเพชร นางทองประศรีได้สั่งบ่าวไพร่ให้เตรียมของใช้ และยาที่จะให้ผู้ป่วยกิน ดังความว่า
                    เร็วเข้าเขาจะคลอดมึงอย่าช้า       ฟืนตอนซื้อมาเอาไว้ไหน
                    เด็กเอ๋ยตั้งหม้อก่อเตาไฟ            น้ำร้อนต้มไว้อย่าได้ช้า
ต่อจากนั้นก็ทำธุระเกี่ยวกับเด็ก คือตัดสายสะดือ โดยปกติใช้ไม้รวกเผาไฟจัดการห่อเด็กเพื่อนำไปอาบน้ำอุ่นเสร็จแล้วก็อุ้มนอนบนเบาะที่ปูอยู่ในกระด้ง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะจัดสมุดดินสอไว้ข้างตัว ถ้าเป็นเด็กหญิงก็มีเข็มมีด้าย เพื่อเอาเคล็ดให้เด็กรู้จักเขียนอ่าน หรือเด็กช่างเย็บปักถักร้อย แล้วก็ทำพิธีร่อนกระด้ง ในบทเสภาตอนกำเนิดพลายงามมีว่า ทาขมิ้นแล้วใส่กระด้งร่อน
การร่อนกระด้ง หมอตำแยยกกระด้งขึ้นร่อนเบาๆ แล้วก็วางลง พอเด็กตกใจร้องแว้ ทำอย่างนี้ ๓ ครั้ง พลางก็พูดว่า สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ ตอนนี้จะมีหญิงที่เลี้ยงลูกง่ายและมีความประพฤติดี จะตอบว่า ลูกข้าเอง หมอตำแยจะส่งกระด้งให้ผู้นั้นรับไป ผู้นี้เรียกว่า แม่ยก จะให้เงินหมอตำแยพอเป็นพิธีว่าซื้อไว้

5. การทำขวัญและการโกนผมไฟ
เมื่อเด็กคลอดได้ ๓ วัน นับว่าพ้นอันตรายจากลูกผีมาได้ตอนหนึ่ง พ่อแม่ก็จัดทำขวัญเด็ก แสดงความดีใจ การทำขวัญในตอนนี้ไม่ได้ทำอย่างออกหน้าออกตา คงทำกันภายในครอบครัว เมื่อเด็กอายุครบเดือนแล้วจึงทำพิธีโกนผมไฟ และทำขวัญเป็นการใหญ่ เช่น ตอนกำเนิดพลายแก้ว มีการกล่าวถึงการทำขวัญไว้ว่า
                              ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว      เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน
                    ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ         ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง

           6. การตั้งชื่อ
การตั้งชื่อเด็กไม่มีกำหนดเวลาที่ตายตัว บางรายเมื่อโกนผมไฟ แล้วตั้งชื่อพร้อมกันไปก็มี ไปตั้งเมื่อโตแล้วก็มี เวลาไปฝากเป็นลูกศิษย์พระ พระผู้เป็นอาจารย์ตั้งให้ก็มี ครั้งโบราณ การตั้งชื่อเห็นจะตั้งเป็นการชั่วคราวก่อนการตั้งชื่อเด็ก เป็นการให้สิริมงคลแก่เด็กอย่างหนึ่ง ดังนั้น การตั้งชื่อเด็กเกี่ยวข้องกับโชคชะตาราศี จึงต้องนำเอาเวลาตกฟาก วัน เดือน ปีเกิด มาประกอบในการตั้งชื่อด้วย บางครั้งตั้งชื่อตามเพศ ตามลำดับที่คลอด ตามนิมิตฝัน ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือตามลักษณะรูปร่างหน้าตา และลักษณะบางอย่างของเด็ก ดังตัวอย่างเช่นการตั้งชื่อต่างๆของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน
การตั้งชื่อขุนช้างมีที่มาจากตอนที่ขุนช้างเกิดนั้น มีช้างเผือกมาถวายพระพันวษา จึงตั้งชื่อว่าขุนช้าง ส่วนพลายแก้วที่มีชื่อเช่นนั้น เนื่องจากเจ้ากรุงจีนได้นำแก้วมาถวายพระพันวษา โดยบรรจุไว้บนยอดเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดเจ้าพระยาไทย ส่วนการตั้งชื่อพลายงาม เนื่องจากมีรูปร่างงดงามเหมือนขุนแผน นางวันทองจึงตั้งชื่อลูกเช่นนั้น
นอกจากนี้ ถ้าเด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ หรือเห็นว่าชื่อเดิมไม่เป็นมงคล ก็อาจจะตั้งชื่อเสียใหม่ได้ เพื่อให้ผีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนละคนกัน จะได้ไม่ไปรบกวนทำให้เด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น นางพิมพิลาไลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวันทอง

7. การโกนจุก
พิธีโกนจุกเป็นเครื่องบอกสถานภาพของคนในสังคม เป็นการเตือนให้ผู้เข้าพิธีทราบว่า คนคนนั้นเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กเป็นผู้ใหญ่แล้ว นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ทางสังคม ทางอารมณ์ หรือกิริยามารยาทก็ควรได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย
ในพิธีโกนจุกนี้ ถ้าเจ้าของงานเป็นผู้มั่งคั่ง ก็มีการเลี้ยงดูเพื่อนฝูง เช่น เลี้ยงอาหารเย็นและมีมหรสพด้วย ในเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพิธีโกนจุกพลายงาม ดังนี้
          ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม                   ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู
          จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ                     แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู



     


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น