ศิลปะการดำเนินชีวิต
ประสาร บุญเฉลียว (ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต ) นายกสมาคมครูมาสเตอร์ภาษาไทย
คนเราทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรต่างปรารถนาความสุขในชีวิตอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น มีฐานะที่มั่นคง
แต่จะมีสักกี่คน กี่ครอบครัว
ที่ประสบความสุขความสมหวังที่แท้จริง เพราะสภาพชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความขุ่นมัว
มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความขัดแย้งและความทุกข์
และเมื่อใครก็ตาม มีความทุกข์บรรยากาศรอบตัวเขาเหล่านั้นก็พลอยได้รับผลกระทบไม่สบายใจไปด้วย
ลำพังฐานะที่มั่นคง มิได้เป็นคำตอบว่าจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตเสมอไป
บางคนมีฐานะต่ำต้อย เขาอาจมีความสุขในชีวิตก็เป็นได้
อะไรคือคำตอบ อะไรคือสิ่งประกันให้คนเรามีความสุขที่แท้จริงในการดำเนินชีวิตกันแน่
ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่เพียรพยายามค้นหาคำตอบเช่นกันทั้งที่เป็นครูสอน
โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด มีฐานะที่มั่นคง มีการศึกษาสูง มีภรรยา มีลูกที่น่ารัก มีอาชีพที่มีเกียรติในสังคมชีวิตก็มิได้มีความสุขเท่าที่ควร จึงแสวงหาหนทางที่ดีกว่าเพื่อจะได้พบความสุขที่แท้จริง และในฐานะที่เป็นคนอุบลราชธานี ได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวของ พระมหาเถระผู้โด่งดังหลาย ๆ ท่านเช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงพ่อชา สุภัทฺโท มาโดยตลอด จึงได้ศึกษาธรรมะของท่านและนำมาฝึกปฏิบัติพัฒนาจิตใจตามแนวทางที่ท่านสอนไว้ จนสามารถยกระดับจิตใจตนเองให้สูงขึ้นและมีความสุขได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากที่เราไม่ได้ลงมือฝึกปฏิบัติตามแนวทางของท่านอย่างเต็มที่เต็มกำลัง
หรืออาจไม่สอดคล้องกับจริตนิสัยของเราก็เป็นได้ จึงยังไม่ได้ทรงไว้ซึ่งความสุขอย่างยั่งยืน
จนกระทั่งในปี 2538 มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้แนะนำให้ข้าพเจ้าไปปฏิบัติ
วิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
แบบเต็มหลักสูตรที่มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ ศูนย์ฯ
ธรรมกมลา อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ในช่วงปิดภาคเรียน 10
วันต่อเนื่องกันในเดือนเมษายนปีนั้น จึงเริ่มพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตเป็นความสุขสงบที่เกิดจากภายใน
และข้าพเจ้าขอเรียกแนวทางนี้ว่า ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต
การฝึกศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต คือการฝึกวิปัสสนาแนวอาจารย์โก
เอ็นก้า ซึ่งสืบทอดวิธีการจากท่านอาจารย์อูบาขิ่น
(วิปัสสนาจารย์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง) จนแพร่หลายไปทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีสถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ ศูนย์ฯ ธรรมธานี เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ศูนย์ฯ ธรรมกมลา อ.เมือง
จ.ปราจีนบุรี ศูนย์ฯ ธรรมอาภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ศูนย์ฯ ธรรมสุวรรณา อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ศูนย์ฯธรรมกาญจนา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
วิปัสสนาหมายถึง[1] "การมองดูสิ่งต่างๆ
ตามความเป็นจริง" อันเป็น
กระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง
เริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ
เมื่อมีสติที่มั่นคง และก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต
ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ ได้พบความไม่เที่ยง(อนิจจัง)
ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา)ของตัวเราเอง ผ่านการเฝ้าสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติเองโดยตรง
จึงเป็นวิธีการใน การชำระจิตให้บริสุทธิ์
วิปัสสนาเป็น วิธีการในการขจัดความทุกข์ ทำจิตให้บริสุทธิ์
ซึ่งจะทำให้
คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ
และเป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
การเตรียมตัวสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติ
จะต้องส่งใบสมัครไปยังศูนย์ปฏิบัติธรรมข้างต้นเมื่อไปรับการยืนยันจึงจะเข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ โดยต้องเตรียมการหลายอย่าง
อาทิ เตรียมกาย เตรียมใจ
การเตรียมกาย เช่น
ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจัง
เสมือนอยู่คนเดียว มีการแยกชายหญิง ห้ามนำของมึนเมาเข้ามา หากจะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าตลอดระยะเวลาการฝึก
ศูนย์ฯฝึกจะจัดอาหารมังสวิรัติ
ให้ผู้เข้ารับการฝึกทุกคน
เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบ
ง่ายและสวมสบาย ไม่จำกัดสีหรือแบบ แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป และห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง
ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์
การเขียนจดหมาย และการพบปะกับ
ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ห้ามเล่นดนตรี
ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น
นาฬิกาปลุก
นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวม
อย่างเด็ดขาดและไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น
การเตรียมใจ
ผู้ฝึกปฏิบัติทุกคนจะต้องเตรียมใจและฝึกใจเพื่อรักษาศีล
กระบวนการทำจิตให้ บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา
คือการรู้แจ้งเห็นจริง ผู้เข้า
ปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 ศีล 8
อย่างเคร่งครัด
ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ
นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกวันแรก
จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย การรักษาความเงียบนี้
รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย
และจะต้องงดการสื่อสาร
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็หากจำเป็นสามารถติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก
อาหาร และอื่นๆ แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้
ก็ควรมีให้น้อยที่สุด
ขั้นตอนการฝึกมี 3 ขั้นดังนี้ [2]
ขั้นตอนแรกคือการรักษาศีล ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญาคือการรู้แจ้ง
เห็นจริง ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด จะช่วยทำให้จิตใจสงบลง จนพร้อมที่จะเข้าถึงความจริงในตัวเอง
ขั้นตอนต่อมาคือสมาธิ การพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิตที่
ควบคุมได้ยาก ด้วยการฝึกให้จิตเพ่งความสนใจไปที่วัตถุอย่างเดียว คือลมหายใจ พยายามเพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจให้นานที่สุด แต่เป็นการสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก การกระทำเช่นนี้จะทำให้จิตสงบยิ่งขึ้น จิตจะปราศจากกิเลสที่รุนแรง ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้จิตมีสมาธิที่แหลมคมพร้อมที่จะสำรวจความจริงในตัวเอง
ขั้นตอนที่สาม คือการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส โดยพัฒนา
ปัญญาให้เห็นธรรมชาติของตนเอง นี่คือการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเป็นการมองความจริงภายในร่างกายและจิตใจ
จะมีการสังเกตอย่างเป็นระบบ ทำอย่างปล่อยวาง
สังเกตเข้าไปในปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของกระบวนการนามรูป
ซึ่งแสดงตัวออกมาเป็นความรู้สึกที่ร่างกาย นี่เป็นสาระสำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการชำระจิตใจบริสุทธิ์ด้วยการสังเกตตนเอง
หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ทดลองฝึกปฏิบัติตั้งแต่ปี พุทธศักราช
2538 ก็เกิด
การเปลี่ยนแปลงในด้านจิตใจของตนเองหลายอย่าง โดยเฝ้ามอง
สังเกต ชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและฝึกฝนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา
15 ปี
จนปัจจุบันก็เห็นผลสัมฤทธิ์ของจิตใจตนเองสูงขึ้นมีทุกข์น้อยลง
เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องศิลปะแห่ง
การดำเนินชีวิต
จากประสบการณ์การฝึกปฏิบัติของข้าพเจ้าหลายครั้งพบว่า เมื่อนั่ง
วิปัสสนาไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง จะมีอาการปวดเมื่อยที่ขามากเพราะอาจารย์สั่งให้นิ่งๆอย่าขยับ
ผ่านเข้าสู่ชั่วโมงที่ 2 ความปวดทวีความรุนแรงขึ้นจนขาจะขาดให้ได้
จึงตั้งจิตใหม่ให้เฝ้าดูและอย่าไปผูกพันกับความรู้สึกที่อยากหายปวด
เพราะเมื่อใดที่ “ความอยาก”
เข้ามาผสมโรง จะยิ่งปวดเป็นหลายร้อยเท่า
หลังจากนั้นตัดใจเลยว่าจะตายก็ขอให้ตายไปเลย ยอมเสียสละเพื่อธรรม เพื่อพบสิ่งที่ดีกว่า
พอใจของเรายอม (วาง) จิตไม่ไปเกาะกับความปวดที่ขา
ความปวดหลุดผลัวะออกไปเลย ก็เลยเกิดปัญญาขึ้นมาด้วยตนเอง
ถ้าจะเรียกว่าเป็น ภาวนามยปัญญาก็คงไม่ผิด ว่าทุก ๆ
ความรู้สึกจะอยู่ภายใต้กฎเดียวกันคือกฎอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเมื่อทำใจให้เป็นอุเบกขา
(วาง)
ถ้าเมื่อใดจิตของเรามีความทุกข์ (กิเลส) เข้ามาครอบงำ (อาการที่เกิดใน
ร่างกายเช่นปวดทรมาน = ทุกข์) แล้วจิตของเราก็ควรแค่เฝ้าดู (แค่สังเกตดู) ไม่ต้องร่วมผสมโรง(สังขาร =อยากหายปวด = ตามธรรมชาติของจิต คือถ้าสบาย = ดูดเข้า,ถ้าทุกข์ = จะผลักออก) ความทุกข์(กิเลส)นั้นก็จะค่อยๆหายไปเอง ทั้งนี้เราต้องมี ศีล สมาธิ สติ ปัญญา และกำลังใจที่เข้มแข็งไม่กลัว เป็นเครื่องมือกำกับ ตลอดเวลา
ใครก็ตามที่ฝึกปฏิบัติแล้วจะมีภูมิคุ้มกันจิตใจมีศิลปะในการดำเนินชีวิตเมื่อใด
เกิดกิเลสขึ้นในใจ จะมีปรากฏการณ์ทางกายเกิดขึ้น 2 อย่าง อย่างแรกลมหายใจจะผิดปกติ
ลมหายใจแรงขึ้น ลมหายใจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย
ส่วนอย่างที่สองจะเกิดขึ้นในระดับที่ละเอียดกว่า จะมีปฏิกิริยาทางชีวเคมีบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นความรู้สึกขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
ลมหายใจและความรู้สึกจะช่วยเราได้ 2 ทาง
คือคอยเตือนเราเหมือนเป็นเลขานุการส่วนตัว ทันทีที่กิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เกิดขึ้นในจิต ลมหายใจของเราจะผิดปกติ เช่นเดียวกับความรู้สึกทางกายของเราจะบอกว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น
เมื่อเราได้รับการเตือน แล้วเราหันมาสังเกตลมหายใจ
หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยไม่ไปร่วมสังฆกรรมใดๆ ด้วย
เพียงเฝ้าดู อย่างผู้ดู ด้วยใจที่เป็นกลาง จะพบว่ากิเลส(ความทุกข์)นั้นจะค่อยๆสลายตัวไป
จึงกล่าวได้ว่าทุก ๆ ความรู้สึกที่เข้ามาในจิตใจเราให้ตามดู รู้ทัน วางท่าทีที่
ถูกต้องกับสิ่งนั้น ไม่ต้องไปจัดการกับกิเลสด้วยการผลักมันออกไป เพราะเราไม่มีทางชนะธรรมชาตินั้นได้ และธรรมชาติในแต่วันที่เราดำเนินชีวิตนั้น จะมีสิ่งกระทบวิถีชีวิตตลอดเวลาทั้งที่เราชอบใจและไม่ชอบใจ
ทำให้จิตใจเกิดความไม่สมดุลขึ้นๆ ลง ๆ วูบไปไหวมาทั้งวัน แต่เมื่อเราผ่านกระบวนการฝึกให้เกิดมีศิลปะในการดำเนินชีวิตแล้ว จิตใจดวงเดิมก็จะเปลี่ยนความเคยชินเป็นใจดวงใหม่ เป็นใจที่เกิดใหม่แต่อยู่ในร่างเดิม เป็นใจที่ปล่อยวาง (อุเบกขา) ได้ง่ายขึ้นต่อทุกเรื่องราวที่กระทบใจ
ทั้งชอบ ทั้งชัง ไม่ร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับมัน ชีวิตก็จะผาสุก ยิ่งขึ้น การดำเนินชีวิตก็สงบ สันติยิ่งขึ้น มีความสุขยิ่งขึ้นเพราะมีศิลปะในการดำเนินชีวิต นั่นเอง และข้าพเจ้าก็พบความสุขที่สงบเย็นของชีวิตเช่นเดียวกัน
ยิ่งได้มาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นำศีล
สมาธิ ปัญญา มาทรงไว้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งพบความสุขที่ยั่งยืนและถาวรอย่างแท้จริง
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า..
จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนําความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดี
ย่อมสําเร็จประโยชน์
หนังสืออ้างอิง
สัตยา นารายัน โกเอ้นก้า. (2537). ธรรมบรรยาย
(พิมพ์ครั้งที่ 2),กรุงเทพมหานคร:
มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน.
อาจารย์โกเอ็นก้า. คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา, ค้นเมื่อ 12 ตุลาคม
2552, จากhttp://www.thaidhamma.net/index.php?option=com_content&task
อาจารย์โกเอ็นก้า. (2552). ศิลปะการดำเนินชีวิตและตายแล้วไปไหน ( พิมพ์ครั้งที่ 2),
กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ดี.
[2] ที่มา. จาก ศิลปะการดำเนินชีวิตและตายแล้วไปไหน (
พิมพ์ครั้งที่
2,
หน้า10–12),
โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า,2552,
กรุงเทพมหานคร :
พิมพ์ดี.